วิกฤติสุขภาพสงบ เมื่อพบผู้นำรวมหมู่: กรณีศึกษา Meta R2R กับปัญหาตกเลือดหลังคลอด

0
4418

วิกฤติสุขภาพสงบ เมื่อพบผู้นำรวมหมู่: กรณีศึกษา Meta R2R กับปัญหาตกเลือดหลังคลอด

“เก่งคนเดียวไม่มีวัน…ทำงานใหญ่…ได้สำเร็จ แต่ถ้าจะให้ได้มากกว่าความสำเร็จ                                                                                                                       คือ…การทำงานเป็นทีม”

กระบวนการ Meta R2R การแก้ปัญหาต่างๆ ทางสาธารณสุข มุ่งเน้นการมีมุมมองเชิงระบบผ่านการวิเคราะห์สายธารแห่งคุณค่า (Value Stream Mapping) ของกระบวนการดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ต้นทาง ถึงปลายทาง ตัวอย่างของการแก้ไขปัญหามารดาเสียชีวิตจากการตกเลือดหลังคลอด โดย รพ.ปทุมธานี แชร์ว่อน “โรงพยาบาลพลาดทำคลอดสาว 18 ตกเลือดตาย” เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดกับคนไข้ และญาติเท่านั้น บุคลากรทางการแพทย์ ชื่อเสียงของโรงพยาบาลและกระทรวงสาธารณสุข ข่าวสนุก แต่ไม่คิดถึงหัวใจของคนทำงาน ถูกฟ้องร้อง สังคมตราหน้า โดยยังไม่ได้สืบหาความจริง น้องๆโรงพยาบาลชุมชนส่งต่อ ผู้ป่วยมาพร้อมกับการพยายามทำทุกอย่างเต็มที่สุดความสามารถพร้อมน้ำตาอาบแก้มขณะส่งต่อ นี่คือความจริงที่ต้องเผชิญ เราเป็นพี่น้องกัน แต่อยู่บ้านคนละหลัง คุณกุ้งหัวหน้าพยาบาลห้องคลอดโรงพยาบาลปทุมธานี ซึ่งเป็น โรงพยาบาลแม่ข่าย จึงริเริ่มพัฒนาระบบการดูแลผู้คลอดให้กับ โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง ใช้แนวคิดทฤษฎีระบบและการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนา มีการพัฒนาหลายวงรอบตามปัญหาที่ได้จากการร่วมกันวิเคราะห์ และใช้ R2R เป็นเครื่องมือพัฒนางาน โดยใช้วิธีจับเข่าคุยกัน เน้นรับฟังความรู้สึก หาโอกาสในการพัฒนา ตั้งเป้าหมายร่วมกัน วางแผนการดำเนินงาน ลงมือทำ ติดตาม ทบทวน พัฒนาต่อเนื่อง อาศัยความจริงใจและช่วยเหลือในฐานะพี่ช่วยน้อง เมื่อพบปัญหาหรืออุปสรรคในงาน หรือเกินความสามารถ ก็สามารถขอความช่วยเหลือแพทย์และนำปัญหาเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ MCH Board เพื่อออกเป็นนโยบายและขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกันทุกโรงพยาบาล เช่น การ Stock เลือดที่จำเป็น รวมถึงการขอความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ในการรับดูแลรักษาคนไข้คลอดที่มีภาวะวิกฤติฉุกเฉินขณะส่งต่อ ส่งผลให้การพัฒนาดำเนินไปอย่างราบรื่น โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งให้การดูแลผู้คลอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้ถุงตวงเลือดเพื่อประเมินการเสียเลือดและใช้แนวทางการรักษาภาวะตกเลือดหลังคลอดทุกโรงพยาบาล มีการสำรองเลือดและยาไว้ใช้ บุคลากรมีความรู้ทักษะในการดูแลผู้คลอดและให้การดูแลมารดาที่มีภาวะตกเลือดหลังคลอดได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการจัดเตรียมความพร้อมของทีมอุปกรณ์ช่วยชีวิตฉุกเฉินและระบบการให้คำปรึกษา ส่งผลให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน และทำให้อัตราการตกเลือดหลังคลอดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อัตราการเกิดภาวะช็อกจากการตกเลือดลดลงมาก ไม่มีมารดาเสียชีวิตจากการตกเลือดหลังคลอด

R2R เป็นการทำงานวิจัยโดยหยิบยกประเด็นปัญหาหรือคำถามวิจัยมาจากงานประจำเพื่อนำไปแก้ปัญหางานประจำ ส่งผลให้เกิดองค์ความรู้ใหม่และนำความรู้นั้นมาใช้แก้ปัญหาในการปฏิบัติงานของตนเอง R2R นั้น ไม่ใช่ภาระ แต่เป็นตัวช่วยให้การทำงานมีคุณภาพมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนได้รับบริการและมีสุขภาพที่ดีขึ้น งานประจำพัฒนาขึ้น บุคลากรที่ทำงานในองค์กรมีความสุข ความภูมิใจ และสามารถทำงานต่อไปอย่างไม่จบไม่สิ้น นำไปสู่การเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา การแก้ไขปัญหามารดาเสียชีวิตจากการตกเลือดหลังคลอด ผ่านการวิเคราะห์สายธารแห่งคุณค่า (Value Stream Mapping) ของกระบวนการดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ต้นทาง ถึงปลายทาง (Meta R2R) ภายใต้แนวคิดการทำงานแบบไร้รอยต่อที่ทุกคนสามารถเข้าถึงระบบริการสุขภาพแบบเดียวกัน สร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้รับบริการ ทำให้มีความสุขและผลลัพธ์ในการดูแลดีขึ้น ข้อมูลในการรักษาพยาบาลมีการเชื่อมโยงกัน สามารถลดความแออัดในโรงพยาบาล และส่งเสริมให้เกิดการดูแลผู้ป่วยร่วมกันในชุมชน เมื่อทุกฝ่ายเห็นความสำคัญ จะทำให้เกิดความร่วมมืออย่างดีจาก รพ.สต., รพช., อสม. ทำให้เกิดการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การเกิดนวัตกรรม R2R CQI ที่เกี่ยวกับการดูแลแม่และเด็กในแต่ละพื้นที่ นอกจากนั้นยังทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน ส่งผลให้การขับเคลื่อนและการพัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน มีความสุข ผู้รับบริการมีความปลอดภัย

ดาวน์โหลดที่นี่…ฟรี วิกฤติสุขภาพสงบ เมื่อพบผู้นำรวมหมู่: กรณีศึกษา Meta R2R กับปัญหาตกเลือดหลังคลอด

ผู้ถอดบทเรียน วรรษวรรณ กระต่ายจันทร์                

ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ (งานการพยาบาลผู้ป่วยนอก) สถาบันโรคผิวหนัง

Image by Manuel Alejandro Leon from Pixabay

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here