หัวใจเล็ก ๆ กับปาฎิหาริย์ที่ยิ่งใหญ่

0
1372
หัวใจเล็ก ๆ กับปาฎิหาริย์ที่ยิ่งใหญ่
หัวใจเล็ก ๆ กับปาฎิหาริย์ที่ยิ่งใหญ่

หัวใจเล็ก ๆ กับปาฎิหาริย์ที่ยิ่งใหญ่

สาวิกาสิกขาลัยไม่ได้สอนให้เปลี่ยนแปลง หรือหนีออกไปจากโลก แต่สอนวิชาแห่งชีวิตที่ไม่มีที่ใดเคยสอน คือสอนให้เรารู้ว่าจะอยู่อย่างไรในโลก อย่างที่โลกเป็น

“คุณมีการจินตนาการหรือไม่ว่า คุณจะปรารถนาที่จะตายแบบใด” ไม่มีใครต้องการตายโดดเดี่ยว ตายที่
ไม่ดี เราสามารถออกแบบความตายได้ โดยคนใกล้ตัว “ปาฏิหาริย์ที่ยิ่งใหญ่ กับหัวใจที่เล็ก ๆ ที่ประทับใจ”

พว.พรวรินทร์ บุตราวงศ์ พยาบาลผู้ที่ใช้ “พลังแห่งความรัก” เยียวยาและรักษาสามีที่ป่วยเป็นมะเร็งเมื่อ 18 ปี
ก่อน จากผู้ป่วยที่แพทย์บอกให้ทำใจอาจอยู่ไม่ถึง 4 เดือน การหมดหวัง หมดกำลังใจทั้งที่เป็นวิชาชีพพยาบาลเคยให้คำแนะนำญาติ และดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้สู้อย่างเต็มที่ กลายเป็นผู้ที่เกือบจะสูญเสีย แต่ด้วยความมุ่งมั่นจากจิตใจแน่วแน่ ผนึกกำลังกับสามีที่ป่วย และลูกที่เป็นสายใย ประสานใจร่วมกันว่าโรคนี้ต้องหายอย่างแน่นอน เมื่อใจ
เข้มแข็ง กายจึงเกิดความเข้มแข็งไปด้วยกัน จนในที่สุดสามีที่ป่วยสามารถผ่านวิกฤติอันเลวร้าย และมีชีวิตอยู่ได้จนทุกวันนี้ ซึ่งในปัจจุบันได้ใช้ประสบการณ์ชีวิตกลับไปช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ป่วยมะเร็งกลับมามีคุณภาพชีวิต และกำลังใจที่ดี ช่วยเหลือสังคมในหลาย ๆ ด้าน

ถอดองค์ความรู้จากเหตุการณ์ :
กรณีที่ 1 ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยที่เป็นสามีซึ่งมีภรรยา 2 คน โดยสามีเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่มีภรรยาคนที่1ดูแลเป็นอย่างดี ในขณะที่ผู้เป็นสามีทราบเป็นอย่างดีว่าใกล้ถึงวาระสุดท้ายของตนจึงประสงค์จะพบกับภรรยาคนที่ 2 ที่คบมาถึง 11 ปีโดยไม่เป็นที่เปิดเผยกับผู้ใด ซึ่งครั้งนี้ได้บอกผ่านคุณพรวรินทร์ บุตราวงศ์ ดังนั้นด้วยประสบการณ์ความเป็นพยาบาลมืออาชีพในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว และต้องการเห็นความสุขครั้งสุดท้ายของผู้ป่วยจึงมีการติดต่อกับภรรยาคนที่ 2 อย่างเป็นความลับให้เข้าเยี่ยมสามีเพื่อสั่งเสีย ล่ำลาด้วยคำมั่นสัญญา และในที่สุดสามีได้เสียชีวิต
โดยทุกคนที่เกี่ยวข้องสามารถเป็นสุขในจุดที่ตนเองอยู่ได้ ทำให้คนที่จากไปมีความสุข และคนที่อยู่มีความสุขด้วย

กรณีที่ 2 ได้ช่วยหญิงที่ต้องการฆ่าตัวตาย เธอมีลูกอายุ 7 ขวบตาบอดทั้งสองข้าง สามีทิ้ง หาเลี้ยงชีพด้วยการขายของเพียงลำพังโดยฝากลูกไว้กับผู้อื่น เมื่อคุณพรวรินทร์ บุตราวงศ์ทราบเหตุการณ์จึงขอพบ และสนทนากับเด็กที่ตาบอด จึงทราบว่าน้องเข้าใจไปว่า “หมอได้เอาลูกตาไปล้าง เมื่อแห้งเรียบร้อยแล้วจะนำมาคืน ซึ่งน้องต้องการที่จะมองเห็นแล้วจึงทวงลูกตาคืน” คุณพรวรินทร์ จึงตอบไปตามตรง ๆ ว่า “หนูไม่มีตาแล้ว แต่หนูจะมีตาของแม่ เป็นดวงตาแทน” ดังนั้นเมื่อแม่ไปขายของจึงแนะนำให้พาลูกไปด้วย เพื่อจะได้ยินเสียง ได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อม และแนะนำให้เรียนหนังสือที่โรงเรียนสอนคนตาบอด ต่อมาลูกได้เสียชีวิตลง แต่แม่ไม่ได้มีความคิดจะฆ่าตัวตาย แต่ได้อุทิศตนให้กับโรงเรียนสอนคนตาบอดใช้ประสบการณ์สอนผู้อื่นต่อไป บทเรียนที่ได้รับคือ ปาติหาริย์ของหนึ่งครอบครัวที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง

กรณีที่ 3 ผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มีต้องการปฎิทินช่อง 3 พร้อมลายเซ็นดาราทุกคนในปฏิทินนั้นด้วย จึงประสานงาน พบว่าอุปสรรคมากมายโดยเฉพาะการหาลายเซ็น ซึ่งคุณพรวรินทร์ บุตราวงศ์ ใช้ประสบการณ์ความมุ่งมั่นให้ผู้ป่วยเกิดความสุขมาแก้ปัญหา โดยเพิ่มคำอวยพรและเซ็นในปฏิทินด้วยตนเอง ถึงแม้ผู้ป่วยไม่ทราบความจริงแต่เกิดความปิติจนวาระสุดท้ายของชีวิต ดังนี้ไม่มีอะไรเกินความสามารถ หากเราต้องการจะทำ

กรณีที่ 4 การใช้โทรศัพท์ในการสื่อสารให้คำปรึกษาแต่ละขั้นตอนอย่างละเอียดกับญาติ ๆ ท่ามกลางผู้ป่วยกำลังจะเสียชีวิต ด้วยจิตใจที่มุ่งให้ความสุขกับญาติ และผู้ป่วยไม่ให้เกิดความเศร้าเสียใจ เข้าใจธรรมชาติของคนที่กำลังจะจากไป การล่องลอยสู่สวรรค์ การเดินทางท่ามกลางดอกไม้ พูดในสิ่งที่ดี ๆ ไม่ร้องไห้ ไม่กังวล เปิดเพลง หรือธรรมะที่เป็นความสุขของผู้ป่วยระยะสุดท้ายจนจากไปอย่างสงบโดยมีพยาบาลอยู่เคียงข้าง

กรณีที่ 5 : สนับสนุนค่าพาหนะให้ญาติผู้ป่วยพาคุณพ่อที่ต้องการกลับบ้านจังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน 5,000 บาท และสนับสนุนให้ลูกอยู่กับพ่อในวาระสุดท้ายอีก 2,000 บาท เนื่องจากคุณพ่อรักบ้าน และบ้านหลังนี้ ไม้ทุกแผ่นได้ก่อสร้างด้วยตัวเอง ทำให้ผูกพัน ซึ่งในที่สุดได้เสียชีวิตอย่างสงบท่ามกลางญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน ซึ่งดีกว่าที่เสียชีวิตอย่างโดดเดียวภายในโรงพยาบาล

การตั้งข้อสังเกตผู้ป่วย หรือคนที่คิดจะฆ่าตัวตายและจะช่วยให้ทันท่วงที : ให้สังเกตจากคำพูดที่ซ่อน หรือแฝงด้วยความหมาย ต้องฟังแบบใช้หัวใจในการฟัง ฟังแบบdeep listening ใช้หัวใจในการฟัง

นพ.ภิญโญ ศรีวีระชัย เดิมเป็นวิสัญญีแพทย์ ที่มีภาระงานประจำจากหน้าที่ที่รับผิดชอบแบบเดิม ๆ จนวันหนึ่งได้ให้การรักษาระงับความปวดให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งพบว่าเป็นเพียงการรักษาให้หายปวดได้แต่ผู้ป่วยยังไม่มีความสุข ซึ่งน่าจะมีอะไรที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจ ด้วยความที่สนใจต้องการค้นหาเรื่อง Spiritual แต่ต้องเป็นการตัดสินใจบนองค์ความรู้และข้อเท็จจริง อีกทั้งมีโอกาสได้เชิญแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต มาบรรยายธรรมที่โรงพยาบาล ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อปริญญาโททางพุทธศาสนา สาขาศิลปแห่งชีวิต จากเพียงคำถามที่สงสัยไม่รู้สาเหตุที่ผู้ป่วยทุกข์ใจ ซึ่งความเป็นวิชาชีพแพทย์ทราบเพียงปัญหาทางกาย (Body) แต่ไม่ทราบปัญหาทางจิตใจ (Mind) ในที่สุดจึงย้ายสถานที่ทำงานมาเป็นแพทย์ดูแลเรื่อง Palliative Care ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อย่างเต็มตัวและเต็มใจเนื่องจากเป็นงานที่ช่วยเหลือผู้อื่น เข้าใจถึงจิตใจผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็ง การทำให้ผู้ป่วยและญาติได้รับรู้ รับทราบว่า เราสามารถทำให้ตายอย่างมีความสุขได้ รู้ตัว รู้ความต้องการ เตรียมตัวตายอย่างสมศักดิ์ศรี ทำในสิ่งที่ต้องการมีจิตที่ยินดี

ช่วงชีวิตที่ศึกษาเพิ่มเติมที่ประเทศญี่ปุ่น : เนื่องจากศาสตร์การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Palliative Care) เดิมในประเทศไทยยังไม่เกิดขึ้น มีเพียงที่ประเทศญี่ปุ่น (ปัจจุบัน Palliative Care อยู่ภายใต้ราชวิทยาลัยเวชศาสตร์ครอบครัว) ดังนั้นจากความมุ่งมั่นจึงต้องเริ่มต้นศึกษาภาษาญี่ปุ่นใหม่ตั้งแต่แรกเริ่ม ศึกษาความมีระเบียบในการใช้ชีวิตภายใต้วัฒนธรรมที่รักษาวินัย รักษาเวลาของประเทศญี่ปุ่น เช่น ต้องรักษาผู้ป่วยให้เสร็จสิ้นจึงสามารถรับประทานอาหารได้ การบริการด้วยหัวใจจริง ๆ คนญี่ปุ่นมีปรัชญาที่ยิ่งใหญ่แฝงในการใช้ชีวิต ได้แก่ อิชิโกะ อิชิเอะ ทุกช่วงเวลาในชีวิตเรา เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว หากปล่อยผ่านไป เราจะสูญเสียมันไปตลอดกาล ไม่รู้ว่าจะได้พบกันอีกหรือไม่
ดังนั้นการพบกับผู้ป่วยถือเป็นการพบที่ยิ่งใหญ่ ทำให้ประเทศญี่ปุ่นให้การบริการดีมาก

ความผูกพันกับแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต: ได้รับคำปรึกษาเรื่องการย้ายหน้าที่การงานจากวิสัญญีแพทย์มาเป็นแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ได้รับการสิ่งเสริมเรื่องการทำกุศล การทำประโยชน์ต่อผู้คนที่ได้รับความทุกข์ เดือดร้อน
ได้รับหน้าที่ให้ดูแลแม่ชีศันสนีย์ ในวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งพบว่าทั้งแม่ชี และผู้ใกล้ชิดมีการเตรียมตัวในการตาย
ได้รับทราบความประสงค์สุดท้ายที่ต้องการกลับไปเสียชีวิตที่เสถียรธรรมสถาน เนื่องจากสะดวกกับลูกศิษย์มากมายที่กำลังรอท่าน ณ ที่แห่งนั้นมากกว่าที่จะมาเสียชีวิตภายในโรงพยาบาล ซึ่งท่านได้เสียชีวิตอย่างสงบกลับคืนสู่ธรรมชาติ ไม่ต้องใช้พลังงานไปกับความเสียใจ แต่ใช้พลังกับการสานภารกิจต่อเนื่องจากได้ใช้วิธีการตายได้อย่างเหมาะสม

Palliative care เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ต้องใช้หัวใจของตนเองให้มากที่สุด มีผู้เกี่ยวข้องมากมาย มีการเตรียมตัวเพื่อกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน การให้ญาติทราบเรื่องการบริหารยา การรับประทานอาหารที่ถูกต้องก่อนเสียชีวิต เพื่อ
จะได้ไม่เสียชีวิตอย่างทรมาน ให้ผู้ป่วยได้ทำพินัยกรรมชีวิตอะไรไว้บ้า เช่น ผู้ป่วยต้องการอะไร ไม่ต้องการใส่ท่อช่วยหายใจ ต้องการเสียชีวิตที่บ้าน ซึ่งถือเป็นการให้เกียรติผู้ป่วยก่อนเสียชีวิต ทุกคนต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุด

จากประสบการณ์ทั้งหมดเป็นที่มาของของ นพ.ภิญโญ ศรีวีระชัย ในการเขียนหนังสือเรื่อง การุณยฆาต และได้รับรางวัลจากสมเด็จพระเทพ ฯ ซึ่งเป็นเรื่องราวความพลัดพราก หรือความตายเขียนออกมาในรูปแบบนวนิยาย รวมถึงหนังสือเรื่อง มรณเวชกรรม

หนังสือของ คุณพรวรินทร์ บุตราวงศ์ ได้แก่ หัวใจเล็ก ๆ กับแสนล้านความสุข และหัวใจเล็ก ๆ กับปาติหาริย์ที่ยิ่งใหญ่ 2 เล่มราคา 300 บาท โดยได้นำเงินส่วนหนึ่งจากการรับเชิญในการบรรยาย และจากขายหนังสือไว้ใต้ฐานพระ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่รอคอยต่อไป

“ความสำเร็จต้องเริ่มที่ใจ มุ่งมั่นทำเพื่อผู้ป่วยระยะสุดท้าย จะก่อให้เกิดความสุขจริง”

“ปาติหาริย์ของหมอ คือ ปาติหาริย์ที่จะเปลี่ยนตนเองในการเปลี่ยนชีวิตของการเป็นแพทย์ จากวิสัญญีแพทย์มาเป็น Palliative care”

ผู้ถอดบทเรียน สดศรี พูลผล หัวหน้างานพัฒนาคุณภาพงาน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพถ่ายโดย RODNAE Productions จาก Pexels

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here