แนวทางการให้บริการการแพทย์ทางไกล (tele medicine)

0
7721

ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้การให้บริการการแพทย์ทางไกลสามารถทำได้โดยสะดวกระหว่างโรงพยาบาลและสามารถทำได้ถึงระดับบ้านพักอาศัยของผู้ป่วย ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการ รูปแบบการให้บริการการแพทย์ทางไกลที่มีการนำมาให้บริการแล้ว ได้แก่ การอ่านผลเอกซเรย์ การอ่านผลทางพยาธิวิทยา และการให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังมีการเสริมบริการอื่นๆ เข้าไปด้วย เช่น การให้บริการเจาะเลือดและส่งยาถึงที่บ้าน

แนวทางการให้บริการการแพทย์ทางไกลเริ่มมีการพัฒนาในต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการให้บริการการแพทย์ทางไกลยังธำรงไว้ซึ่งคุณภาพของการรักษาพยาบาลและความปลอดภัยของผู้ป่วย ตลอดจนเป็นไปตามหลักกฎหมายและจริยธรรมวิชาชีพ

ตัวอย่างของแนวทางการให้บริการการแพทย์ทางไกลที่เริ่มมีการกำหนดขึ้นมา ได้แก่
– การให้บริการการแพทย์ทางไกลต้องอยู่บนหลักพื้นฐานของประโยชน์สูงสุดที่เกิดขึ้นแก่ผู้รับบริการ ผู้รับบริการที่มีความเสี่ยงเกินเกณฑ์ที่กำหนด ต้องได้รับการคัดกรองออกจากการขอรับบริการ
– แพทย์ต้องมีคุณวุฒิและขอบเขตการให้บริการตรงตามที่โรงพยาบาลกำหนด และเป็นไปตามกฎหมายที่บังคับใช้กับโรงพยาบาลที่เป็นผู้ให้บริการ
– ต้องมีขั้นตอนที่รัดกุมในการระบุตัวตนของผู้ป่วยและสิ่งส่งตรวจ เพื่อป้องกันการให้การรักษาผิดคน หรือการปลอมตัวเข้ามาสืบประวัติโดยบุคคลอื่น
– ต้องมีการจัดเตรียมทรัพยากรต่างๆ ที่จำเป็น (เช่น ระบบติดต่อสื่อสาร อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์บุคลากรสนับสนุน) ที่เพียงพอและมีคุณภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลข่าวสารจะมีความครบถ้วนถูกต้อง และทันเวลา
– มีการกำหนดขั้นตอนในการจัดการภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการให้คำปรึกษา
– ควรกำหนดให้มีขั้นตอนการขอรับความยินยอมจากผู้ป่วย (informed consent) ก่อนการให้บริการ
– ข้อมูลข่าวสารทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั้งในระหว่างการติดต่อสื่อสาร และที่มีการจัดเก็บ ถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยที่ต้องได้รับการปกปิด โดยจะเข้าถึงได้เฉพาะผู้มีอำนาจ และต้องได้รับการเก็บรักษาที่ดีภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยเมื่อนำข้อมูลมาใช้อีกครั้ง ข้อมูลยังคงความครบถ้วน ถูกต้อง และเข้าถึงได้
– กรณีมีการสั่งยาหรือส่งมอบยาให้ผู้ป่วย ต้องมีมาตรการป้องกันความคลาดเคลื่อนทางยาที่อาจเกิดขึ้นได้ ระมัดระวังความเสื่อมสภาพของยาที่อาจเกิดจากอุณหภูมิและความชื้นในระหว่างการขนส่ง และห้ามสั่งยาที่มีกฎหมายควบคุมเฉพาะ เช่น ยาเสพติด
– กรณีมีบริการเจาะเลือด/ เก็บสิ่งส่งตรวจ ผู้ป่วยที่บ้าน ต้องมีขั้นตอนที่รัดกุมและได้มาตรฐาน ในการเจาะเลือด/ เก็บสิ่งส่งตรวจ การขนส่ง และการป้องกันความผิดพลาดในการระบุตัวตน

เครดิตภาพ จาก  2017: Telemedicine in the US and beyond

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here