ข้อคิดและแนวคิดในการพัฒนากายภาพโรงพยาบาล

0
3688
ข้อคิดและแนวคิดในการพัฒนากายภาพโรงพยาบาล
ข้อคิดและแนวคิดในการพัฒนากายภาพโรงพยาบาล

ข้อคิดและแนวคิดในการพัฒนากายภาพโรงพยาบาล

“เราจำเป็นต้องหันมาสนใจในเรื่องของโรงพยาบาลกันอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยและ บุคลากรของโรงพยาบาล มีความทุกข์น้อยลง มีความเสี่ยงน้อยลง และมีความสุขมากขึ้น” “จะทำอะไรในโรงพยาบาลให้เริ่มที่ SAFETY ก่อน แล้วค่อยไป HANDY และ BEAUTY

เพราะสังคมที่เปลี่ยนไปทั้งในโลกนี้และในประเทศไทย มีปรากฏการณ์ เด็กเกิดน้อยลง คนแก่ตายช้าขึ้น และ จำนวนผู้พิการมีมากขึ้น ทำให้โรงพยาบาลมี ความสำคัญมากขึ้นทุกวัน จนอาจจะกล่าวได้ว่า บ.ว.ร.  ซึ่งหมายความถึง “บ้าน-วัด-โรงเรียน” กำลังเปลี่ยนเป็น “บ้าน-วัด-โรงพยาบาล” ทำให้เราจำเป็นต้องหันมาสนใจในเรื่องของโรงพยาบาลกันอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยและ บุคลากรของโรงพยาบาล มีความทุกข์น้อยลง มีความเสี่ยงน้อยลง และมีความสุขมากขึ้น ซึ่งใน ประเทศที่เจริญทางด้านการวิจัยพัฒนาจะสร้างมาตรฐานขึ้นมาแนะนำ (เช่น JCI, JCR หรือ Evidence Based เป็นต้น) แต่มาตรฐานหลายอย่างที่เป็นของต่างประเทศนั้น ไม่สามารถ นำมาใช้ในประเทศไทยได้ทั้งหมด เพราะความแตกต่าง ทางสังคม ทางภูมิศาสตร์ และด้านงบประมาณ ทำให้คนไทยเราเริ่มศึกษาและวิจัยเพื่อสร้างมาตรฐานของเราขึ้นมา โดยการเริ่มต้นบันทึก จากประสบการณ์ การวิจัย และการระดมสมองของกลุ่ม “สถาปนิกอาสา และ วิศวกรใจดี”  ทำการสรุปหามาตรฐานทางด้านกายภาพ ของโรงพยาบาลในประเทศไทย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อ สาธารณะชนทั่วไป (บางส่วนจากคำเกริ่นนำ หนังสือแนวคิดในการพัฒนากายภาพโรงพยาบาล ร่างครั้งที่ -5)

หนังสือแนวคิดในการพัฒนากายภาพโรงพยาบาล ร่างครั้งที่ -5 เป็นหนังสือที่มาจากแรงดลใจหลายอย่าง โดยทีมงานจิตอาสาซึ่งใช้ชื่อว่า “สถาปนิกอาสาและวิศวกรใจดี” จัดทำขึ้นมาอย่างไม่มีลิขสิทธิ์ โดยเริ่มต้นเมื่อราว 8 ปีก่อน เป็น version-14 และได้ปรับปรุงมาเป็นลำดับจนถึงเล่มล่าสุดคือ version -5 คาดว่าคงใช้เวลาอีกราว 6 ปีสำหรับ version 1 เป็นหนังสือที่น่าจะมีเรื่องทางกายภาพของโรงพยาบาลมากที่สุดที่เคยทำมาในประเทศไทย ข้อจำกัดหนึ่งที่มีคือ เป็นหนังสือที่อ่านค่อนข้างยาก ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ใช้ ทางวิทยากรจึงได้มาให้ข้อแนะนำในการอ่าน ว่าอ่านอะไร อย่างไร ตลอดจนวิธีการนำไปใช้ โดยเนื้อหาส่วนหนึ่ง เป็นมาตรฐานตามฉบับดั้งเดิมของอเมริกา แคนาดาและญี่ปุ่น และอีกส่วนหนึ่งได้นำมาปรับตามบริบทเป็นมาตรฐานของไทยแล้ว ตัวอย่าง

  • JCI กำหนดให้ประตูมีความกว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตร clear เพื่อให้ wheelchair เข้าไปได้ ปรากฏว่าการก่อสร้างในประเทศไทยวัดระยะความกว้างจากกลางวงกบถึงกลางวงกบ เพราะฉะนั้นประตูขนาด 90 เซนติเมตร ของประเทศไทยจะเหลือ clear อยู่ที่ 87 เซนติเมตร ถ้าต้องการ clear ที่ 90 เซนติเมตร ขนาดประตูต้องเป็น 95 เซนติเมตร ซึ่งจะทำให้มีราคาแพงมากจนคนไม่ใช้ ทีมศึกษาวิจัยพบว่า wheelchair ต้องการพื้นที่จริงเพียง 84 เซนติเมตร เพราะฉะนั้นจึงยังสามารถใช้วงกบตามมาตรฐานของประเทศไทยได้เพื่อประหยัดงบประมาณ แล้วมี clear ด้านใน 87 เซนติเมตรเพื่อให้ wheelchair ใช้ได้โดยไม่ต้องใช้ตามมาตรฐานต่างประเทศ
  • กฎหมายกำหนดให้ อาคารสาธารณะต้องมีทางลาดชันซึ่งมีความชันของทางลาด 1:12 ในความเป็นจริงจะสามารถใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีคนช่วยเข็น แต่หากผู้พิการต้องดูแลตัวเองทางลาดนั้นจะต้องมีความชัน 1:20 จึงจะใช้ได้
  • ท่อออกของ O2 ต้องห่างจากปลั๊กอย่างน้อย 47 เซนติเมตร แต่วิทยากรเคยพบว่าโรงพยาบาลแห่งหนึ่งกลับมีระยะห่างของท่อออก O2 หัวเตียงกับปลั๊กไฟราว 18 เซนติเมตร ซึ่งหากมี O2 รั่วและมีประกายไฟจากปลั๊กก็อาจเกิดการระเบิดได้เลย เกิดเพราะความไม่รู้

ดาวน์โหลดที่นี่…ฟรี ข้อคิดและแนวคิดในการพัฒนากายภาพโรงพยาบาล

ถอดบทเรียน ศรัญญา อินต๊ะเชื้อ

ตำแหน่ง หัวหน้ากลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here