รากฐาน สานต่อ ก่อการไกล

0
3591

รากฐาน สานต่อ ก่อการไกล

“รากฐาน”: นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล

บ่มเพาะมุ่งมั่นก่อราก  บั่นบากก่อฐานการณ์ใหญ่

ทุ่มเทมุ่งมั่นตั้งใจ ต้นไม้คุณภาพประเทศไทยกำเนิดมา”

ก่อนจะมาเป็น HA

3 กระแสที่นำมาสู่กระบวนการ HA ในปี พ.ศ. 2540 ได้แก่ (1) การมี พรบ.ประกันสังคมทำให้เกิดการจัดทำมาตรฐานสถานพยาบาลประกันสังคม เป็นแรงจูงใจในการสร้างมาตรฐาน HA ที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น (2) การศึกษาต้นแบบการพัฒนาการใช้ Quality Management ในโรงพยาบาลของประเทศสหรัฐอเมริกา และนำแนวคิด TQM มานำร่องทดลองใช้ในโรงพยาบาลประเทศไทย (3) ความสนใจของ สวรส. ในการสร้างกลไกการทำให้มีระบบคุณภาพเกิดขึ้น และได้เรียนรู้กระบวนการเยี่ยมสำรวจที่น่าประทับใจจาก Mr.Anthony Wagemakers ซึ่งเป็นกระบวนการเชิงบวก ที่ไม่คุกคาม ให้เกียรติ และสามารถกระตุ้นให้โรงพยาบาลอยากพัฒนามากขึ้น

กอบร่างสร้างมาตรฐาน HA

มาตรฐาน HA ฉบับแรกได้มีการเพิ่มเติมแนวคิดการพัฒนา (Quality Improvement) เป็นเอกสารที่มีพลัง สะท้อนถึงคุณค่าและความหมาย ทั้งต่อผู้ป่วย บุคลากร และโรงพยาบาล โดยการพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลได้อาศัยการทดลองปฏิบัติ เรียนรู้จากประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนกัน จากการที่มาตรฐาน HA ไม่มีวิธีให้ปฏิบัติ มีแต่กรอบแนวคิดกว้างๆ ทำให้โรงพยาบาลมีอิสระในการทำงาน ลองผิดลองถูกเอง และเกิดเป็นนวัตกรรม

“Accreditation is an Educational Process” แนวคิดกระบวนการเรียนรู้เป็นรากฐานที่สำคัญ โดยเริ่มจากการที่โรงพยาบาลประเมินตนเอง แล้วผู้เยี่ยมสำรวจเข้าไปเรียนรู้จากผลการประเมินตนเองของโรงพยาบาล ซึ่งจากแนวคิดนี้ ทำให้กระบวนการ HA ยังอยู่รอด ไม่เป็นไฟไหม้ฟาง เป็นฟางกองใหญ่ ที่ปะทุ ลุกโชน ให้พลังกับโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ใช้ความรู้เป็นฐานในการทำงาน ไม่ใช้อำนาจ หัวใจคือการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล เรื่องการรับรองเป็นของแถม มุ่งที่คุณภาพของบริการ ทำให้ภาพลักษณ์ของกระบวนการ HA เป็นภาพของกระบวนการพัฒนา ไม่ใช่การตัดสินว่าสอบได้หรือสอบตก

จาก พรพ. สู่ สรพ. (พ.ศ. 2542-2552)

การดำเนินงานสำคัญ 6 ประเด็น ได้แก่ การพัฒนาด้านจิตตปัญญา  การสร้างเสริมสุขภาพ  ความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วย  การจัดประชุม HA National Forum การส่งเสริมการประเมินตนเองและกระบวนการเรียนรู้  มาตรฐาน การประเมิน การยกย่อง การรับรองและแรงจูงใจ ด้วยแนวคิดการรับรองบันไดสามขั้น (Stepwise Recognition) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้สามารถขับเคลื่อนแผ่ขยายกระบวนการ HA ในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นมีการบูรณาการการสร้างเสริมสุขภาพ (HPH) บูรณาการมาตรฐาน MBNQA/TQA การพัฒนากลไกเทียบเคียงการพัฒนาโปรแกรม THIP การพัฒนา SHA Program นำมาสู่การจัดตั้งเป็น “สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)” ในปี พ.ศ.2552

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงาน

          Head: Principle & Knowledge ปรัชญาการรับรองเป็นกระบวนการเรียนรู้ และการติดตามความรู้ต่างๆ ให้ทันโลก นำความรู้ที่ได้มาทดลองทำ

Heart: Respect & Trust ให้ความเคารพและให้ความยอมรับนับถือกับผู้คน และการสร้างความไว้วางใจ

Hand: Pragmatic & Enjoy ต้องทำอะไรที่เป็นเชิงปฏิบัติมากๆ และมีความสุขอยู่กับมัน

ร่วมด้วยช่วยกันนำแนวคิด HA National Forum มาสู่การปฏิบัติ และเรียนรู้จากแหล่งความรู้ HAarchive

 

“สานต่อ”: นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี

สานต่อก่อต้นแข็งแกร่ง รับแสงรดนํ้าต้นกล้า

พรวนดินใส่ปุ๋ยนานา กิ่งก้านสาขาแตกใบ”

ผู้สานต่อระบบคุณภาพ ต่อจาก นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล คือ นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี ซึ่งได้พัฒนาต่อยอดระบบคุณภาพ 5 ระบบงานคุณภาพ ได้แก่

1) การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐาน HA  มีการขยาย/พัฒนาการประเมินคุณภาพสถานพยาบาลให้รอบด้านมากขึ้น ได้แก่ การประเมินรับรองขั้นก้าวหน้า(AHA : Advanced HA), รางวัลจิตวิญญาณในการทำงาน(SHA Award), การประเมินรับรองระบบการดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรค (DSC : Disease Specific Certification) รวมทั้ง ขยายการประเมินรับรองไปถึงระดับปฐมภูมิด้วยการประเมิน DHSA : District Health System Accreditation

2) Information &Technology เนื่องจากเริ่มมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ทางการแพทย์มากขึ้นจึงต้องมีมาตรฐานการดูแล และ มาตรการป้องกันความปลอดภัยของระบบ ประกอบกับปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามาในรูป telemedicine นอกจากนี้ในโลกของอนาคต โลกเสมือนจริงอย่าง metaverse ที่อาจเข้ามามีส่วนช่วยเรื่องของการ training ในโรงพยาบาลที่มีการฝึกอบรมนักศึกษาบุคลากรทางการแพทย์ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสร้าง Metaverse Training Centre ที่ทางสรพ.เริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญและจะนำไปสู่การวางแผนเพื่อรับรองคุณภาพกันต่อไป

3) Lean & Logistics การนำระบบ flow ของกระบวนการทาง logistic มาใช้ในการจัดทำบริการทางสาธารณสุข

4) Value-Based Healthcare

5) COVID-19

ในช่วงยุคการระบาดของ COVID -19 นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งการประเมินรับรอง ,กระบวนการเยี่ยมสำรวจ เป็นรูปแบบ online และมีการเผยแพร่ความรู้ต่างๆผ่านหลายช่องทาง เช่น Facebook Live และ YouTube เพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

 

“ก่อการไกล”: พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ

เติบโตยืนต้นแผ่กว้าง  หลากสีแตกต่างสดใส

ผลิดอกออกผลหลากใบ  ต้นไม้คุณภาพเติบใหญ่ในสังคม”

การกว้าง

Hospital -> Healthcare System -> Health System

ความท้าทายของ สรพ. ในบทบาทของการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล (Hospital) สู่การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Healthcare System) สู่การพัฒนาระบบสุขภาพ (Health System) ที่สังคม/ประชาชนมีส่วนร่วม โดยมีการพัฒนาระบบการประเมินที่นอกเหนือไปจากการดูเป็นรายโรงพยาบาลแบบเดิม ซึ่งในปัจจุบันมีการรับรองรายโรงพยาบาลที่หลากหลาย เช่น HA, การประเมินรายโรค, SHA ก่อการไกลแนวกว้าง จึงเพิ่มมุมมองการพัฒนาและรับรองหน่วยบริการปฐมภูมิ (Primary care unit accreditation) นอกจากนี้เพิ่มมุมมองการประเมินคุณภาพโดยประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนพร้อมเป็นเจ้าของ

การไกล

มุ่งสู่วิสัยทัศน์: ระบบบริการสุขภาพมีคุณภาพและไว้วางใจได้ในระดับสากลด้วยมาตรฐาน HA

  • สร้างการยอมรับในสังคมระดับประเทศ จาก HA เป็น HA Thailand โดยขับเคลื่อนองค์กรให้เป็น National body เรื่อง External Evaluation Organization โดย สรพ. ได้รับการรับรองจากหน่วยงานสากล ISQua EEA โดยได้รับการรับรอง ครบทั้ง 3 โปรแกรม ได้แก่ การรับรององค์กร การรับรองมาตรฐาน และการรับรองกระบวนการพัฒนาผู้เยี่ยมสำรวจ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็น 1 ใน 13 ประเทศทั่วโลกที่มีองค์กรที่ได้รับการรับรองครบทั้งโปรแกรม ซึ่งเป็นผลมาจากการวางรากฐานและการสานต่อให้เกิดความต่อเนื่อง
  • สร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศ อาทิเช่น ความร่วมมือเชิงวิชาการในการขับเคลื่อนการพัฒนามิติจิตวิญญาณในระดับสากล หรือความร่วมมือการพัฒนากับหน่วยงานจากต่างประเทศ
  • ขับเคลื่อนประเด็น Patient Safety ในระดับ Global เป็น 1 ใน 12 ประเทศที่ได้รับการยอมรับ และการขับเคลื่อนการพัฒนา 2P-Safety และบูรณาการประเด็นความปลอดภัยในมาตรฐาน HA ฉบับที่ 5

4 ปีต่อจากนี้

ปี 2565 ปีแห่งการ อยู่รอด (Living Organization)

ปี 2566 ปีแห่งการ อยู่ร่วม (Friendly Organization)

ปี 2567 ปีแห่งการ อยู่อย่างมีความหมาย (Meaning Organization)

ปี 2568 ปีแห่งความยั่งยืน

สรพ. ในความตั้งใจ การไกลที่อยากเป็น คือ “องค์กรที่มีชีวิต องค์กรที่เป็นมิตร และองค์กรที่ใครๆ ก็คิดถึง”

 

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here