วันนี้เคล็ดลับงานคุณภาพ มีเรื่องการดูแลผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการไม่มากที่บ้านของตนเอง มาให้เรียนรู้กันครับ
ถ้าการระบาดของ COVID-19 ขยายตัวอย่างรวดเร็ว คงมีสักวันหนึ่งที่เตียงและบุคลากรทางการแพทย์จะมีไม่เพียงพอที่จะดูแลผู้ป่วย COVID-19 ทุกคนที่โรงพยาบาล และจะทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากจำเป็นต้องได้การดูแลที่บ้านของตนเอง
องค์การอนามัยโลกได้ออกคำแนะนำเมื่อ 17 มีนาคม 2563 เพื่อให้การเกิดการจัดการที่เป็นระบบในการดูแลผู้ป่วย COVID-19 ที่บ้านของตนเอง สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. การเตรียมบ้านผู้ป่วย ยึดหลัก isolation with good ventilation คือ ผู้ป่วยควรอยู่ในห้องที่แยกจากคนอื่นในบ้าน มีอากาศถ่ายเทดี จำกัดพื้นที่ที่ต้องใช้สอยร่วมกับคนอื่น และแยกสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เป็นส่วนตัว ไม่ใช้จาน ช้อน แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ปะปนกับคนอื่น
2. การเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยและผู้ที่อยู่ในบ้าน เมื่อกลับถึงบ้าน ทั้งผู้ป่วยและผู้ที่อยู่ในบ้านต้องใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์เพื่อป้องกันสารคัดหลั่งจากตัวผู้ป่วย มีการล้างมือเมื่อมีการเตรียมอาหาร รับประทานอาหาร และเข้าส้วม ไม่นำมือมาจับบริเวณใบหน้าโดยไม่ล้างมือก่อน และมีความรู้ในการใช้น้ำยาฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง
3. การทำความสะอาด ของใช้ผู้ป่วยล้างด้วยสบู่และน้ำ พื้นและผิวเฟอร์นิเจอร์ในห้องที่ผู้ป่วยพักมีการทำความสะอาดบ่อย ๆ ห้องน้ำที่ผู้ป่วยใช้มีการทำความสะอาดอย่างน้อยวันละครั้งด้วยสบู่หรือน้ำยาซักฟอก แล้วตามด้วย 0.5% sodium hypochlorite เสื้อผ้าผู้ป่วย ถ้าเป็นไปได้ควรซักในน้ำร้อน 60 – 90 0C แล้วตามด้วย 0.5% sodium hypochlorite
4. ขยะที่เกิดจากผู้ป่วยถือเป็นขยะติดเชื้อ ต้องได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องโดยโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย
5. ทีมงานสาธารณสุข ร่วมกับชุมชน และครอบครัวของผู้ป่วย ร่วมกันดูแลผู้ป่วยที่บ้าน โดยอาจใช้ telemedicine เข้ามาช่วยสนับสนุนการดูแล
6. ผู้ดูแลผู้ป่วยและคนในบ้าน ควรได้รับการติดตามเฝ้าระวังอาการ 14 วัน นับจากวันสุดท้ายที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย
7. ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ต่อเมื่อตรวจหาเชื้อด้วยวิธี PCR 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 24 ชั่วโมง แล้วไม่พบเชื้อ แต่ถ้าไม่สามารถตรวจหาเชื้อได้ ให้นับเวลา 14 วันจากวันที่ผู้ป่วยไม่มีอาการ
Photo by 🇨🇭 Claudio Schwarz | @purzlbaum on Unsplash