Conceptual Framework for Change: Driver Diagram
“นักยุทธศาสตร์ชั้นดีจะไม่เกาะติดคิดแต่เรื่องที่เราทำได้เท่านั้น แต่จะคิดถึงสิ่งที่ยังไม่ได้ทำด้วย สิ่งนี้จะเป็นขุมทรัพย์ของการพัฒนาระบบงาน โดยไม่จนตรอกหรือติดกับกับข้อจำกัดต่างๆ ที่มีอยู่” (นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล)
Driver Diagram คือ แผนภูมิแสดงความสัมพันธ์ของปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยจำแนกเป็นลำดับชั้นจากปัจจัยขับเคลื่อนไปสู่แนวคิดการปรับเปลี่ยน เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ทีมสามารถแปลงสิ่งที่เป็นนามธรรม หรือเป้าหมายที่ทีมต้องการ สู่การกำหนดวิธีปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ทำให้ทีมเห็นภาพการเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายและการปฏิบัติ สื่อสารให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนำไปสู่การปฏิบัติจนเกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน Session นี้ จึงเป็นการเรียนแบบมีส่วนร่วม (Participation Learning) เพื่อทำความเข้าใจแนวคิดพื้นฐาน และคุณค่าของเครื่องมือ Driver Diagram รวมทั้งเรียนรู้วิธีการประยุกต์ใช้ Driver Diagram ขับเคลื่อน กลยุทธ์ (strategy) และพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยตามกลุ่มโรคสำคัญของทีมนำทางคลินิกอย่างเป็นรูปธรรม สามารถติดตามผลลัพธ์ของการพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายในแต่ละขั้นตอนได้ทั้งระบบ นำมาสู่การเปลี่ยนแปลง (Change) ระบบบริการด้วยความร่วมมือ (Collaboration) ของสหสาขาวิชาชีพ/ทีมที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มคุณภาพงานบริการอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน (Sustainability) ต่อไป
คุณค่าหรือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการทำ Driver Diagram คือ 1. ทำให้ทีมมองเห็นภาพรวมแบบ One Page สามารถเชื่อมโยงแนวทางการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นได้ 2.ช่วยตรวจสอบความสมบูรณ์ของสิ่งที่จะทำโดยมองในเชิงเหตุและผลที่เกิดขึ้น 3. ช่วยกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดความก้าวหน้าของการพัฒนาในแต่ละองค์ประกอบทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยง ความสอดคล้อง และเป็นเหตุเป็นผลกันระหว่างเป้าหมายกับตัวชี้วัด หรือปัจจัยขับเคลื่อนกับเป้าหมายของการพัฒนา โดยเทคนิคการทำ Driver Diagram มีดังนี้ 1.ใช้ template เป็นลักษณะแผนภูมิต้นไม้ (tree diagram) 2.ทีม/ผู้เกี่ยวข้องช่วยกันระดมสมองค้นหาปัจจัยขับเคลื่อน (Driver) สู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แล้วจับกลุ่มจำแนกปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก (Primary Driver) และปัจจัยขับเคลื่อนรอง (secondary Driver) เป็นระดับหลักการ 3 .ร่วมกันระดมสมองค้นหาแนวคิดการปรับเปลี่ยน หรือวิธีการปฏิบัติ (Action) ของปัจจัยขับเคลื่อนในแต่ละ Driver และ 4.กำหนดตัวชี้วัดในแต่ละระดับเพิ่มเติมตามความเหมาะสม
กล่าวโดยสรุปองค์ประกอบของ Driver Diagram ทั้ง 3 องค์ประกอบดังกล่าวข้างต้นจะเกิดจากคำถามเพื่อกระตุ้นให้ทีมร่วมกันคิดโดยเริ่มจาก Why กระตุ้นให้ทีมร่วมกันกำหนดองค์ประกอบที่ 1. เป้าหมาย (Purpose) เป็นส่วนที่สำคัญต้องชัดเจน ถ้าเป็นเป้าหมายทางคลินิกควรเป็นผลลัพธ์ (out come) ที่กระทบถึงตัวผู้ป่วย จะทำให้การเขียน Driver Diagram มีความชัดเจนและครอบคลุมมากขึ้น คำถาม What จะช่วยกระตุ้นให้ทีมคิดค้นหาองค์ประกอบที่ 2. ปัจจัยขับเคลื่อน (Driver) ทั้งปัจจัยขับเคลื่อนหลัก (Primary Driver) ปัจจัยขับเคลื่อนรอง (secondary Driver) ที่ทำให้บรรลุเป้าหมาย และคำถาม How จะทำให้ทีมเกิดการระดมสมองได้องค์ประกอบที่ 3. แนวคิดการเปลี่ยนแปลง (Change Ideal) กิจกรรมหรือออกแบบ Intervention ใหม่ที่แทรกเข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง ถ้าสามารถเชื่อมโยงกิจกรรมกับแนวคิดการเปลี่ยนแปลงได้จะทำให้ทีมเห็นเครื่องมือคุณภาพที่จะมาสนับสนุน (Support) ขับเคลื่อนสู่การบรรลุเป้าหมายเพิ่มขึ้น ดังนั้นลักษณะของ Driver Diagram ซึ่งเป็นกล่องกับเส้นจะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยง
ดาวน์โหลดที่นี่…ฟรี Conceptual Framework for Change: Driver Diagram
ถอดบทเรียน กันยารัตน์ ม้าวิไล
ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ (ห้องผู้ป่วยหนักอายุรกรรม) โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช
Photo by Markus Spiske on Unsplash