ผนึกกำลังองค์กรระบบสุขภาพไทยเพื่อประชาชนไทยทุกคน

0
3931
ผนึกกำลังองค์กรระบบสุขภาพไทยเพื่อประชาชนไทยทุกคน
ผนึกกำลังองค์กรระบบสุขภาพไทยเพื่อประชาชนไทยทุกคน

“ร่วมผนึกกำลังองค์กรระบบสุขภาพไทย เพื่อพัฒนาคุณภาพ ความปลอดภัย และสร้างสุขภาวะแก่ประชาชนไทยทุกคน บนความท้าทายในโลกยุคใหม่ VUCA World”

Synergy of All for All เป็นการนำเสนอจุดเน้นเชิงนโยบาย หลักคิด ประเด็นขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพ ผ่านมุมมองของผู้บริหารองค์กรด้านสาธารณสุขระดับสูง 8 องค์กร ร่วมผนึกกำลังองค์กรระบบสุขภาพไทย เพื่อพัฒนาคุณภาพ ความปลอดภัย และสร้างสุขภาวะแก่ประชาชนไทยทุกคน บนความท้าทายในโลกยุคใหม่ VUCA World” โลกที่ผันผวน (volatility) เปราะบาง (uncertainty) สลับซับซ้อน (complexity) คลุมเครือ (ambiguity) จากภาวะสงคราม ภาวะเศรษฐกิจ ภาวะโลกร้อน สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ปัญหามลพิษทางอากาศ การขาดแคลนทรัพยากร ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สังคมสูงวัย เด็กเกิดน้อย และมีเด็กที่เกิดจากแรงงานต่างด้าวเป็น Multi National ปัญหา Generation Gap วิถีชีวิตเปลี่ยนไปสู่ความเป็นเมือง ปัญหาสาธารณสุขทั้งโรคอุบัติใหม่ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังและปัญหาสุขภาพจิต การกระจายอำนาจไปองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ความแออัดและภาระงานในโรงพยาบาล ปัญหาความขาดแคลนและความคงอยู่ของบุคลากร สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อระบบสุขภาพ ทำให้เกิดทั้งโอกาส ความท้าทาย และภัยคุกคามต่อระบบสุขภาพ รวมทั้งทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงขึ้น

ทิศทางกระทรวงสาธารณสุขกับการขับเคลื่อนคุณภาพในระบบสุขภาพเพื่อประชาชนไทยทุกคน    นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช(รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข)

“กระทรวงสาธารณสุข เป็นองค์กรหลักที่จะรวมพลังสังคมทุภภาคส่วน ผนึกกำลังเพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขให้เข้มแข็ง สร้างความมั่นคงทางสุขภาพ…สร้างสุขภาพคนไทย เพื่อสุขภาพประเทศไทย”

ผลงานเชิงประจักษ์ที่สำคัญของระบบสุขภาพของประเทศไทยที่เกิดจากการผนึกกำลังของทุกภาคส่วน ทำให้ประเทศไทยสามารถผ่านวิกฤติจากสถานการณ์โควิด-19 มาได้อย่างดีและเดินหน้าต่อไปได้ โดยกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับผิดชอบหลักทั้งในแง่กฎหมาย การขับเคลื่อน เป้าหมาย ทิศทาง และการบูรณาการกับทุก    ภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชนและหน่วยงานในกำกับ เพื่อเดินหน้าผนึกกำลังระบบสุขภาพ

เป้าหมายสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข คือ ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดวิสัยทัศน์ เป็นองค์กรหลักด้านสุขภาพที่รวมพลังสังคมเพื่อประชาชนสุขภาพดี โดยมีพันธกิจ พัฒนาและอภิบาลระบบสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน

ระบบสุขภาพและคุณภาพ กรอบแนวคิดของระบบสุขภาพ 6 Building Blocks เป็นแนวทางที่จะทำให้ระบบสุขภาพมีความเข้มแข็ง มี 6 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ การออกแบบระบบบริการ กำลังคน การจัดการข้อมูลสารสนเทศ ผลิตภัณฑ์การแพทย์ การเงินการคลง และการอภิบาลระบบ การผสานพลังร่วมกันพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้เกิดคุณภาพ ความปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างครอบคลุม ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนสุขภาพดี มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เกิดความมั่นคงทางการเงินและสังคม 1.การออกแบบระบบบริการสุขภาพ (service delivery) เพื่อยกระดับระบบบริการรองรับสังคมสูงวัย เพิ่มการเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ลดอัตราตายโรคสำคัญ โดยการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ผ่านเขตสุขภาพและจังหวัด พัฒนา Digital Healthcare การรักษาทางไกล (telemedicine) เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้รวดเร็วและส่งต่ออย่างมีประสิทธิภาพ ออกแบบระบบบริการสุขภาพ (service plan) ตั้งแต่ระบบปฐมภูมิจนถึงศูนย์เชี่ยวชาญทางการแพทย์เพื่อรองรับภาระโรคของประชาชน โดยเน้นกลุ่มโรคที่มีผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ มะเร็ง อุบัติเหตุ และหลอดเลือดสมอง ลดอัตราการตายและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ขยายแพทย์เฉพาะทางสาขาหลักไปในโรงพยาบาลขนาดเล็ก สร้างเสริมความเข้มแข็งของระบบบริการปฐมภูมิ บริการใกล้บ้านใกล้ใจ เพิ่มขีดความสามารถระบบบริการและเครือข่ายไร้รอยต่อโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางโดยเฉพาะผู้สูงอายุ รวมทั้งการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการให้บริการ ทำให้โรงพยาบาลเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ 2.ด้านกำลังคน (health workforce) ผนึกกำลังเสริมสร้างสมรรถนะองค์กรด้วยแนวทาง 4T ด้วยการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน (Trust) การทำงานเป็นทีม สร้างทีม (Teamwork & Talent) การเท่าทันเทคโนโลยี (Technology) การมีเป้าหมายและค่านิยมร่วมกัน (Targets) การวางกรอบบุคลากรตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ รวมทั้งการวางระบบบริหารจัดการกำลังคนที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาองค์กรสมรรถนะสูงและบุคลากรมีคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดีขึ้น 3.ด้านสารสนเทศ (health information systems)การบริหารจัดการด้านสารสนเทศถือหัวใจสำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพ “กระทรวงสาธารณสุขมีแนวคิดผนึกกำลังกับ สรพ. โดยการนำสารสนเทศที่ได้จากการเยี่ยมสำรวจ ของ สรพ.
นำมาจัดระบบ เพื่อนำไปสู่การสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบสุขภาพให้มีคุณภาพและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว…”
รวมทั้งการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการ การบริหารกำลังคน สนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ (infra-structure) เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพในทุกมิติ และผลักดันการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขสู่ยุคดิจิทัล 4.ด้านผลิตภัณฑ์การแพทย์ (access to essential medicines) มุ่งผนึกกำลังพัฒนานวัตกรรมการแพทย์โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ (ฺbiotechnology) การแพทย์ระดับอณู (molecular medicine) การวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ (precision medicine) และการใช้ยาตามลักษณะทางพันธุกรรม การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านสุขภาพ การผลิตยาและวัคซีน ขับเคลื่อนไปสู่การทดแทนการนำเข้าเพื่อความมั่นคงของประเทศ 5.ด้านการเงินการคลัง (financing) ส่งเสริมการบริหารการเงินการคลังให้มีความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการสร้างสุขภาพโดยใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและยั่งยืน 6.ด้านการอภิบาลระบบ (leadership/governance) กระทรวงสาธารณสุข เป็นองค์กรหลักที่จะสานพลังสังคมทุกภาคส่วนทั้งเอกชน ภาคประชาชน องค์กรในกำกับของรัฐ หน่วยราชการทุกๆส่วน เข้ามาหากันเป็นการผนึกกำลังเพื่อยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพ พัฒนาระบบธรรมาภิบาลและองค์กรคุณภาพ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่ มีความสุขและระบบสุขภาพยั่งยืน”

Quality and Safety is The Key Success of Universal Health Coverage
นพ.จักรกริช โง้วศิริ (ผู้ทรงคุณวุฒิ สปสช.)

 “สปสช. พร้อมผลึกกำลัง สร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน…พร้อมเปิดใจ เปิดความคิดและเปิดพื้นที่ ให้มาร่วมกันทำ ร่วมกันสร้าง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิอย่างเป็นธรรม ได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัย”

สปสช. มาทำพันธสัญญา (commitment) ร่วมกันกับองค์กรต่างๆเพื่อให้เกิด Safety และ Well Being ทำอย่างไรให้ทำงานร่วมกันได้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทำให้คนเข้าถึงสิทธิที่พึงมีพึงได้ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นใคร ทำให้เข้าถึงบริการที่เป็นสิทธิประโยชน์อย่างเท่าเทียม เมื่อเจ็บป่วยได้รับบริการตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ มีผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดีและปลอดภัย เงินเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการขับเคลื่อน ทำอย่างไรให้เกิดการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ยุติธรรมและคุ้มค่า เพื่อแก้ปัญหาและผลกระทบต่อระบบบริการสุขภาพ อาจต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากการเป็นผู้กำหนดคุณภาพและบริการ(professional oriented) เป็นการพัฒนาร่วมกับประสบการณ์ผู้ป่วย (patient experience) และเส้นทางการรักษาของผู้ป่วย (patient journey) ระบบบริการต้องเปลี่ยนไป ให้ประชาชนเป็น
ผู้กำหนดสุขภาพตนเอง (people oriented) และดูแลสุขภาพตนเองได้ (selfcare management) สิ่งสำคัญ
คือ ข้อมูลข่าวสาร (information) สำหรับประชาชน  และต้องทำให้เกิดความปลอดภัยทั้งตัวผู้ป่วยและบุคลากร (2P safety) เนื่องจากการทำงานที่เยอะเกินไปทำให้เกิดความอ่อนล้าและผิดพลาดได้

สปสช. มีกลไกหลัก 2 กลไก ได้แก่ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้กำหนดนโยบายและทิศทางเพื่อให้เกิดสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงบริการ และคณะกรรมการควบคุมกำกับคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข เพื่อดูว่านโยบายต่างๆและนำสู่การปฏิบัติแล้วประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิ์หรือไม่ จึงต้องทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาเชิงบวก  สปสช.มีกลไก คณะอนุกรรมการมาตรา 41 หรือคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ระดับจังหวัด และคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ โดยเจตนารมณ์ของมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้น บรรเทาความเดือดร้อน ลด Harmful และลดความขัดแย้ง

สปสช.เน้นการกระจายอำนาจลงสู่ระดับพื้นที่ มีกลไกในระดับพื้นที่ คืออนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต
พื้นที่ (อปสข.) และคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับเขตพื้นที่ (อคม.)
ทำหน้าที่เชื่อมประสานกับองคาพยพในระดับพื้นที่และเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ยังได้ปรับโครงสร้างภายในเป็นกลุ่มจังหวัดเพื่อบูรณาการทำงานร่วมกัน และปรับการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น การทำงานร่วม
กับ สรพ. กำหนดเป็นมาตรฐานเดียวกัน บูรณาการระบบข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทำให้งานคุณภาพเกิดขึ้นกับประชาชน ทำให้สุขภาพภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง

สปสช.พร้อมที่จะผนึกกำลังร่วมกับทั้ง 8 หน่วยงาน รวมทั้งสภาวิชาชีพและสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว พร้อมเปิดใจรับฟังอย่างตั้งใจและมีเหตุผล เปิดความคิด เราก็มีส่วนที่จะทำให้ดีหรือไม่ดีและมีคนอื่นที่
มีความพร้อม มีศักยภาพที่จะทำงานได้เท่าเทียมกัน เปิดพื้นที่ พื้นที่ที่เราอยู่ก็ไม่ใช่อาณาจักรของเราแต่เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถร่วมกันทำ ร่วมกันสร้าง ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ เราไม่ได้กำลังทำเพื่อตัวเราแต่เรากำลังทำเพื่อคนรุ่นหลังที่จะอยู่บนโลกใบนี้ต่อไป เราจะใช้ประสบการณ์ของเราในการบอกว่าอะไรใช่หรือไม่ใช่หรือควรจะไปเรียนรู้ในเรื่องอะไร เราพร้อมที่จะผนึกกำลังรวมกับทุกๆ องค์กรและหน่วยงานและให้กำลังใจทุกคนที่อยู่หน้างาน

The Future Trends for Research on Healthcare Quality and Safety เปิดพื้นที่วิจัยระบบสุขภาพสู่การนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์ นพ.นพพร ชื่นกลิ่น (ผู้อำนวยการ สวรส.)

“สวรส. ใช้ Soft Power ในการผนึกกำลัง โดย เปิดพื้นที่วิจัยระบบสุขภาพ สู่การนำวิจัยไปใช้ประโยชน์…รวมทั้งพัฒนานักวิจัย ให้ทุนวิจัย เพื่อค้นหาความจริง แก้ปัญหา พัฒนาทางเลือก (สู่ Value Based Payment) และยกระดับคุณภาพ”

การดำเนินงานตามพันธกิจ สวรส. เป็นหน่วยงานสนับสนุนมีหน้าที่เสนอนโยบายที่มีเหตุมีผลด้วย Evidence Base Policy และจะมาร่วมผนึกกำลังกับการพัฒนาคุณภาพระบบบริการสุขภาพ โดยเสนอโครงสร้าง แนวทางพัฒนา กลวิธีในการทำงานและพัฒนา ทำให้เกิดเป็นองค์กรต่างๆ มากมาย นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการส่งเสริมพัฒนาบุคลากรวิจัย เพิ่มขีดความสามารถนักวิจัยระดับบพื้นที่ สร้างนักวิจัยหน้าใหม่ เป็นความท้าทายที่อยากให้ช่วยกันทำ เป็นการช่วยซึ่งกันและกัน

จุดมุ่งหมายของการวิจัย มี 4 ด้าน ได้แก่ 1.การค้นหาความจริงและบันทึกไว้ การวิจัยเชิงคุณภาพ การวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ (correlational research) เป็นการค้นหาความจริงเบื้องต้น เช่น คนในยุโรปเป็น CA colon มากกว่าคนในเอเชียพบว่าสาเหตุเกิดจากการรับประทานเนื้อสัตว์มากกว่าคนเอเชีย นำไปสู่การวิจัยใหม่ๆเพื่อพัฒนา 2.การแก้ปัญหา การทำ 3P Safety งานวิจัยจะมีคุณภาพจะมีประโยชน์มากหากนำปัญหาที่พบมาร่วมกันคิดและหาทางแก้ไข เช่น ปัญหาคุณภาพการตั้งครรภ์ การรอคิวนาน การไม่มาตรวจตามนัด “ปัญหาเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของหัวข้องานวิจัย สวรส.ยินดีพัฒนางานวิจัยร่วมกับท่าน เพื่อให้ได้ผลงานเป็นคู่มือ วิธีปฏิบัติ หรือต้นแบบในการทำงานที่อาจนำไปขยายผลการดำเนินงานไปใช้ในวงกว้างต่อไปได้” 3.พัฒนาทางเลือก เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของระบบบริการสุขภาพและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สวรส.ขอเสนอทางเลือกใหม่ในการพัฒนากลไกการจ่ายเงินแบบมุ่งเน้นคุณค่า (value base-ed payment)  แทนการจ่ายเงินชดเชยตามระบบ DRGs ซึ่งเป็น Activity base-ed Payment
ในปัจจุบัน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง 4.ยกระดับคุณภาพ เพื่อให้การพัฒนาคุณภาพเกิดขึ้นตลอดเวลา “3P Safety ถ้าทำวิจัย จะเกิดการแก้ปัญหา พัฒนาคุณภาพการรักษา ลดเวลารอคอย…การพัฒนาคุณภาพจะเกิดขึ้นตลอดเวลา”

กรอบการวิจัยระบบสุขภาพ ได้แก่ แนวโน้มสากล(mega trend) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และสังคมผู้สูงอายุ ความคาดหวังของประชาชน การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การขยายตัวของความเป็น “เมือง” การกระจายอำนาจ และ 6 System Building Blocks ขององค์การอนามัยโลก สิ่งที่อยากให้ทำวิจัย คือ service delivery และ health workforce โดยเฉพาะ 3P Safety

วิธีการและช่องทางสนับสนุนทุนวิจัย มี 3 ช่องทาง ได้แก่ 1) Call for Proposal เปิดให้ยื่นข้อเสนอโครงการวิจัยที่ต้องการแก้ปัญหา 2) Commissioning Approach ที่เป็นปัญหาของประเทศ โดยจ้างนักวิจัยมาช่วยกันทำ และ3) Contingency Fund กองทุนฉุกเฉิน โดยมีการกำหนดการจัดทำกรอบการวิจัยและประกาศรับข้อเสนอโครงการวิจัย ในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ของทุกปี

การพัฒนาเครือข่ายวิจัย สวรส. มีการพัฒนาเครือข่ายวิจัยและเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2561-ปัจจุบัน

ความท้าทายในโลกการทำงานยุคใหม่ สวรส.มุ่งพัฒนาสู่องค์กรสมรรถนะและธรรมาภิบาลสูงทั้งด้านโครงสร้าง บุคลากร บทบาทหน้าที่ การบริหารจัดการงานวิจัย: คุณภาพและประสิทธิภาพ การสร้างองค์ความรู้และงานวิจัยสุขภาพ การสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่าย  การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ สร้างผลลัพธ์และผลกระทบที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศ และองค์กรคุณธรรมและธรรมาภิบาล

สร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ มุ่งสู่ความปลอดภัยและสุขภาวะ
ศ.ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี (รองเลขาธิการ สช.)

“สช. สานพลังด้วยปัญญา ใช้พลังปัญญาที่มีสร้างนโยบายสาธารณะ…สร้างระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้”

สช.สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 เป็นองค์กรที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยแนวคิดใหม่ว่าพลังจะเกิดจากการมีเวทีที่เราได้พูดคุยปรึกษาหารือเรียนรู้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน นั่นคือ หัวใจของการสานพลังด้วยปัญญาใช้พลังปัญญาที่มีเน้นการมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะ

วิสัยทัศน์ ระบบสุขภาพไทยพัฒนาจากกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา พันธกิจ สานพลังเพื่อขับเคลื่อนระบบสุขภาพภายด้วยกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา สานพลังเป็นหัวใจสำคัญ เป็นกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขหรือระบบสุขภาพให้ดียิ่งๆขึ้นไป สร้างสุขภาพแบบองค์รวมที่สมบูรณ์ทั้งกาย จิตวิญญาณ ผ่านกระบวนการสาธารณะ โดยมีเป้าประสงค์ สร้างระบบสุขภาพที่สอดคล้องกับธรรมนูญว่าด้วยสุขภาพแห่งชาติ สร้างกระบวนการนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพและมีนโยบายสาธารณะที่สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของสังคม เป็นการสร้างเสริมสุขภาพและสังคมแนวใหม่ ขับเคลื่อน Health in All Policy และ Well Being

ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 3 พ.ศ 2565 National Policy Guideline for Well Being and Health Equity มีพันธะสัญญา คือ ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม 1) ความเป็นธรรมในเชิงโครงสร้าง สังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่มีส่วนร่วม ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ยอมรับความแตกต่าง สามารถตอบสนอง ปรับตัว ปรับเปลี่ยน ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และคงอยู่ได้ สามารถเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมเพื่อให้ดียิ่งขึ้นและมีความยั่งยืน สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 2) ความเป็นธรรม ในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและปลอดภัย มีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของทุกคน 3) ความเป็นธรรมในการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ดี อยู่ในปัจจัยสังคมที่กำหนดสุขภาพที่เป็นธรรมร่วมกัน ปัจจัยเอื้อต่อสุขภาพและความเป็นธรรมในเชิงโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจการเมืองที่มีส่วนร่วม เชื่อมั่นในระบบสุขภาพของประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก เชื่อมั่นในพลังสามัคคีของทุกภาคส่วนที่จะเดินหน้าประเทศไทยไปข้างหน้า คนไทยไม่แพ้ใครในโลก สช.ขอเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในการขับเคลื่อนนโยบาย Synergy Of All for All เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้จริง

“ต้นไม้สุขภาพจะเติบใหญ่และเติบโตได้ ต้องมีรากที่แข็งแรงจะสอดคล้องกับ Health in All Policy ทุกๆอย่างที่เราทำร่วมกันถ้าใส่เรื่องระบบสุขภาพเข้าไปในการขับเคลื่อน จะมองได้หลากหลายมิติ ทุกกระทรวงทุกสังกัด ถ้าใช้ Health เป็นตัวเดินเรื่อง จะขับเคลื่อนเรื่องราวต่างๆได้มากมายจริงๆ”

ผนึกกำลังประชาชนและสังคมเพื่อความปลอดภัยและสุขภาวะ
ดร.ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ (ผู้จัดการ สสส.)

“สสส. ร่วมผนึกกำลังสร้างระบบสุขภาพ (Health System) ที่เข้มแข็ง ทำงานกับสังคมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ เพิ่มสมรรถนะของประชาชนให้สามารถบรรลุภาวะสุขภาพดี… โดยกำหนดนโยบายสาธารณะ สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ สร้างชุมชนเข้มแข็ง พัฒนาทักษะส่วนบุคคลและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ”

การเดินทาง 20 ปี สสส. สู่การเปลี่ยนแปลงสังคมไทย Health Infra-structure and Health Resources Development in Thailand 1962-2007 มีเพิ่มขึ้น สัดส่วนของปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพ พบว่าวิถีชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพมีผลต่อสุขภาพถึงร้อยละ 51 รองลงมาเป็นปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนปัจจัยด้านระบบบริการสุขภาพมีผลกระทบเพียงร้อยละ 10

ระบบสุขภาพ Health System กฎบัตรออสตาวาเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ การเพิ่มสมรรถนะของประชาชนให้สามารถบรรลุภาวะสุขภาพดี ต้องกระทำในสิ่งสำคัญ 5 ประการคือ 1) สร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ
2) ก่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ 3) สร้างเสริมกิจกรรมชุมชนให้เข้มแข็ง Social Determinant of Health ยกตัวอย่างเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลน้อย จะเสียภาษีน้อย เป็นการจัดการด้านสุขภาพตั้งแต่ต้นน้ำ

“ถ้าเราช่วยกันทำที่ต้นตอของปัญหาก็จะทำให้ลดความเสี่ยง และประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น จากสังคมสุดเหลื่อมล้ำ
สู่สังคมแห่งสิทธิเสรีภาพที่เป็นธรรม”

ดุลยภาพในการพัฒนา ประกอบด้วย รัฐานุภาพ คือ กำลังอำนาจภาครัฐ ธนานุภาพ คือ ทุน และ สังคมานุภาพ คือ พลังสังคม ต้องร่วมกันสร้างพลังสังคมเพื่อสร้างระบบสุขภาพ (Health System) ของประเทศไทยให้เข้มแข็ง

การแพทย์ฉุกเฉินในอนาคตเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา (เลขาธิการ สพฉ.)

“สพฉ.ผนึกกำลังสร้างการมีส่วนร่วม ยกระดับระบบการแพทย์ฉุกเฉินสู่มาตรฐานระดับสากล โดยใช้กลไกการพัฒนามาตรฐาน HA และ3P Safety รวมทั้งอภิบาลระบบด้วยความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

“ร่วมกันพัฒนามาตรฐาน 3P Safety ประเมินคุณภาพหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล ส่งเสริมหน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินภาคเอกชนและปรับสัญลักษณ์สีของหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เป็นสีเขียวเหลือง”

หน่วยบริการสุขภาพการแพทย์ฉุกเฉินไทยในปัจจุบันมีไม่เพียงพอรองรับความต้องการของประชาชนที่เพิ่มขึ้น พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ 2551 เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉิน แผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ฉบับ 4 พ.ศ 2566-2570 มียุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ ภาคประชาชนสร้างวัฒนธรรมการแพทย์ฉุกเฉินระบบการแพทย์ฉุกเฉินสู่สากล ขับเคลื่อนอภิบาลระบบด้วยความรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยี

กรอบนโยบายการขับเคลื่อนระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทยพ.ศ 2566-2570 หน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินมี
3 ระดับ 1) ศูนย์รับแจ้งเหตุ ปัจจุบันมีแผนถ่ายโอนไป อบจ.และมีแผนเชื่อมโยงกับ สายด่วน 191 ในอนาคต
2) หน่วยปฏิบัติการอำนวยการระดับสูง 3) หน่วยอำนวยอำนวยการที่ปรึกษา

สพฐ. พร้อมผนึกกำลังกับทุก ส. เพื่อวางแผนพัฒนามาตรฐานสู่ความปลอดภัย 3P Safety and Well Being
ตั้งหน่วย ประเมินมาตรฐาน ยกระดับสู่สากล โดยพัฒนาระบบ EMS Thai Sky Doctor หน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน และปรับสีของหน่วยฉุกเฉินเป็นสีเขียวเหลืองตามมาตรฐานสากล

Synergy of All for All: ผนึกกำลังองค์กรระบบสุขภาพไทยเพื่อประชาชนไทยทุกคน
พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ (ผู้อำนวยการ สรพ.)

“สรพ. เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนให้สถานพยาบาลมีระบบคุณภาพระดับสากล ประชาชนปลอดภัยด้วยมาตรฐาน HA และพร้อมเป็นแกนกลางในการเชื่อมประสานการผนึกกำลังองค์กรระบบสุขภาพไทยเพื่อประชาชนไทยทุกคน”

วิสัยทัศน์  สถานพยาบาลมีระบบคุณภาพระดับสากล ประชาชนปลอดภัยด้วยมาตรฐาน HA

พันธกิจ มี 4 ด้าน ได้แก่  1) ประเมินและรับรองคุณภาพสถานพยาบาล รวมทั้งกำหนดมาตรฐานเพื่อการพัฒนาและการรับรองคุณภาพของสถานพยาบาล 2)ส่งเสริมให้เกิดกลไกการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยของสถานพยาบาล โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีทั้งในและต่างประเทศ 3)สนับสนุนการสร้าง เผยแพร่ และจัดการความรู้ การศึกษาวิจัย และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลและการรับรองคุณภาพของสถานพยาบาล 4)จัดหลักสูตรและฝึกอบรมแก่บุคลากรของสถานพยุาบาล เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินการพัฒนาและการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล

เป้าหมาย 1) ยกระดับและเพิ่มความครอบคลุมสถานพยาบาลได้รับการพัฒนาและประเมินรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน HA 2) ประชาชนได้รับบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพและความปลอดภัยจากสถานพยาบาลที่มีคุณภาพมาตรฐาน HA 3) การพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยในระบบบริการสุขภาพ ประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล

จากเป้าหมายดังกล่าวทำให้มีหลายเรื่องที่ต้องทำซึ่งต้องอาศัยการผนึกกำลังจากหลากหลายองค์กรมาร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ สถานพยาบาลมีระบบคุณภาพระดับสากล ประชาชนปลอดภัยด้วยมาตรฐาน HA เกิดคุณภาพและความปลอดภัยในระบบบริการสุขภาพ

ผนึกกำลังกับกระทรวงสาธารณสุข กำหนดนโยบายด้านความปลอดภัยและขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพของประเทศให้มีคุณภาพและความปลอดภัย

ผนึกกำลังกับ สวรส. ซึ่งเป็นจุดกำเนิดขององค์กรที่ทำให้กลไกการพัฒนาคุณภาพนั้นเป็นรูปธรรมและก่อให้เกิดองค์กร สรพ. การตัดสินใจต้องใช้ข้อมูล ข้อมูลที่สำคัญคือ ข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์ เพื่อการตัดสินใจ ประเทศไทยของเราเกิดองค์กรใหม่ๆ นโยบายใหม่ๆเพื่อนำมาขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพของประชาชนของเรา ด้วยวิธีการใหม่ๆ เพื่อยกระดับการทำงานประจำให้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ และมีความหมาย สรพ. ได้ลงนามความร่วมมือกับ สวรส. เปิดพื้นที่ให้ชวนคนที่ทำคุณภาพมาช่วยกันทำงานวิจัย ร่วมกันสร้างนักวิจัย ผนึกกำลังสนับสนุนให้มีพื้นที่ในการพัฒนาคุณภาพ และพัฒนางานวิจัยอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จึงเป็นความร่วมมือที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ งานวิจัยที่เกิดขึ้นนั้นจะส่งผลกลับไปสู่ประชาชน ทำให้ประชาชนมีความแข็งแรงและปลอดภัย

ผนึกกำลังกับ สปสช. ซึ่งเป็นหนึ่งใน Provider เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

ผนึกกำลังกับ สช.เพื่อร่วมกันสานพลังด้วยปัญญา ใช้พลังปัญญาที่มีสร้างนโยบายสาธารณะและสร้างระบบสุขภาพที่เป็นธรรม

ผนึกกำลังกับ สสส. โดย สรพ.ได้จัดทำมาตรฐานสำคัญจำเป็นในการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อร่วมสร้างระบบสุขภาพ (Health System) ของประเทศไทยให้เข้มแข็ง

ผนึกกำลังกับ สพฉ. ร่วมผลักดันการพัฒนาเพื่อยกระดับระบบการแพทย์ฉุกเฉินสู่มาตรฐานระดับสากล โดยใช้กลไกการพัฒนามาตรฐาน HA และ3P Safety

“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สรพ.ทำงานเพื่อต่อจิ๊กซอว์ทุกตัวให้ผสานกันอย่างลงตัว ในหลากหลายมิติ ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า เราต้อง Synergy กับทุกคนเพื่อให้เกิดพลังของการเปลี่ยนแปลง”

ผู้ถอดบทเรียน รุ่งนภา ศรีดอกไม้ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์และแผนงานโครงการ โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here