COVID-19 กับ การจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล

0
6181
COVID-19 กับ การจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล
COVID-19 กับ การจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล

COVID-19 กับ การจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลเพื่อรองรับ COVOD-19
อาจารย์เชาวลิต เมฆศิริกุล วิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยสิ่งแวดล้อมและอากาศ และ อาจารย์โกเมธ นาควรรณกิจ รองผู้อำนวยการ สรพ. ได้แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลเพื่อรองรับ COVOD-19 ใน Facebook Live ของ สรพ. เมื่อ 11 มีนาคม 2563 มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. หลักการจัดการการไหลเวียนของอากาศ
– ให้อากาศไหลไปในทิศทางเดียว โดยใช้พัดลมขนาดใหญ่เป่าเพื่อบังคับทิศทางลมให้อากาศไหลจากที่สะอาดมากไปที่สะอาดน้อย ดึงอากาศเสียออกทางด้านข้างหรือด้านหลังผู้ป่วย จัดแบ่งโซนบริการให้เหมาะสม
– หลีกเลี่ยงการใช้พัดลมที่ติดตั้งที่เพดาน เพราะจะทำให้เชื้อมีโอกาสฟุ้งกระจายได้นานขึ้น
– ทางที่อากาศไหลออกในระยะสิบเมตรจะต้องไม่มีผู้คนสัญจรหรือมีสิ่งกีดขวาง แต่ถ้าพื้นที่ภายนอกแออัด ให้ปล่อยอากาศเสียขึ้นไปในระดับที่สูงกว่า 3 เมตร เพื่อให้ละอองฝอยเจือจางในอากาศก่อนตกสู่พื้น หากจะติดตั้งเครื่องกรองอากาศหรือกำจัดเชื้อในอากาศในโซนท้ายลม ต้องมีงบประมาณที่มากพอและต้องมีการบำรุงรักษาที่ดีเพื่อป้องกันแผ่นกรองตันในระยะเวลาอันสั้น

จุดคัดกรองผู้ป่วย
จุดคัดกรองผู้ป่วย


2. จุดคัดกรองผู้ป่วย
– ควรให้บริการแบบ One Stop Service ระยะห่างจากจุดคัดกรองถึงปากทางเข้าอาคารบริการปกติไม่น้อยกว่า 5 – 10 เมตร
– ใช้การระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติ ตำแหน่งที่ตั้งของจุดคัดกรองให้อยู่ทิศใต้ลม ธงเป็นเครื่องมือที่เรียบง่ายในการใช้สังเกตทิศทางลม กรณีลมพัดหวนไปมา ให้ดูทิศทางที่ลมพัดไปในสัดส่วนมากที่สุด หากจุดคัดกรองต้องตั้งอยู่ทิศเหนือลม ให้ติดตั้งฉากบังลม เพื่อบังคับให้ลมเปลี่ยนทิศทาง

ห้องโถงแผนกผู้ป่วยนอก
ห้องโถงแผนกผู้ป่วยนอก


3. ห้องโถงแผนกผู้ป่วยนอก
– ถ่ายเทอากาศออกจากบริเวณห้องโถง โดยติดตั้งพัดลมดูดอากาศบริเวณใกล้พื้นเพื่อไม่ให้ฝอยละอองฟุ้งขึ้นมา ลมระบายออกในบริเวณที่ไม่มีผู้คนสัญจร
– ใช้เครื่องปรับอากาศแบบแยกระบบออกจาก central air ดูแล filter ให้ดี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกรองอากาศให้มากขึ้น อาจใช้ UV ที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อในเครื่อง ถึงแม้ว่า UV จะช่วยไม่ได้มาก แต่ก็พอจะลดปริมาณเชื้อลงได้บ้าง เพิ่มรอบความถี่ของการถอดทำความสะอาด (เช่น ทุกวัน)

ห้องตรวจผู้ป่วย
ห้องตรวจผู้ป่วย


4. ห้องตรวจผู้ป่วย
– อากาศสะอาดจะต้องไหลผ่านจากบุคลากรสู่ผู้ป่วยเสมอ (บุคลากรต้องอยู่ต้นลม)
– แรงดันอากาศภายในห้องตรวจควรสูงกว่าพื้นที่หน้าห้อง กรณีเปิดหน้าต่างหลังห้องตรวจ ควรเปิดพัดลมจากทางหน้าต่างเพื่อบังคับให้อากาศไหลจากภายนอกผ่านตัวผู้ป่วยออกไปด้านหน้าห้อง

ห้องแยกติดเชื้อ
ห้องแยกติดเชื้อ


5. ห้องแยกติดเชื้อ (Infectious Isolation Room) ที่เป็นห้องแรงดันลบ
– ตรวจสอบห้องแรงดันลบแบบง่าย โดยเปิดประตูเข้าไป ลมควรจะไหลผ่านจากหลังเราเข้าไปในห้องตามแรงลมที่ดูดเข้าไป
– ตรวจสอบความพร้อมใช้ของห้อง คือ ห้องมีแรงดันเป็นลบ มีอากาศไหลเวียน 12 Air Change per Hour (ACH) , เติม fresh air จากภายนอก (Outside Air) 2 ACH
– กรณีระบบเป็นแบบที่ใช้อากาศหมุนเวียนกลับมา ต้องมีการกรองผ่าน HEPA filter, ถ้าอากาศเสียที่ดึงออกจากห้องไปด้านนอกที่มีพื้นที่แคบ ส่วนพัดลมดูดอากาศออกควรกรองผ่าน HEPA filter อีกชั้นหนึ่ง, ตรวจสอบแรงดันตกคล่อมตาม spec ของห้อง ควรมีจุดแสดงค่าสูงเกินมาตรฐานและค่าที่ต่ำกว่ามาตรฐาน กรณีพบว่ามีค่าแรงดันตกคล่อมต่ำกว่าปกติ ควรตรวจสอบ HEPA filter เพราะอาจจะมีการรั่ว/เสื่อมสภาพทำให้ประสิทธิภาพของห้องลดลง ผู้รับผิดชอบจำเป็นต้องมีการตรวจสอบเชิงรุกที่สม่ำเสมอ
ขอบพะรคุณภาพการ์ตูนประกอบจาก “การ์ตูนไอ้แป้น”
และ PPT ความรู้จาก facebook อ.ผศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ มากๆ ค่ะ

อ่านต่อ..แนวทางการทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมในสถานะการณ์ COVID-19

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here